New Normal คืออะไร?? ความปกติในรูปแบบใหม่

แชร์เลย

New Normal คืออะไร?? ความปกติในรูปแบบใหม่

ลิงค์: https://ehenx.com/7087/ หรือ
เรื่อง:


New Normal คืออะไร?? ความปกติในรูปแบบใหม่

เปิดความหมายที่แท้จริง ‘New Normal’ หรือ ‘ความปกติรูปแบบใหม่’ คำยอดฮิตช่วงโควิด-19

New Normal หมายถึงอะไร?

คำว่า “New Normal” หรือ “ความปกติในรูปแบบใหม่” ถูกใช้เป็นครั้งแรกในปี 2008 โดย Bill Gross นักลงทุนในตราสารหนี้ชื่อดัง (bond guru) ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Pacific Investment Management (PIMCO) โดยให้นิยามถึงสภาวะเศรษฐกิจโลก ที่จะมีอัตราการเติบโตชะลอตัวลงจากในอดีตและเข้าสู่อัตราการเติบโตเฉลี่ยระดับใหม่ที่ต่ำกว่าเดิม ควบคู่ไปกับอัตราการว่างงานที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังเกิดวิกฤติทางการเงินในสหรัฐฯ อีกทั้งความผันผวนทางเศรษฐกิจจะไม่ได้เป็นไปตามวัฏจักรเศรษฐกิจเดิมแบบที่ผ่านมา เนื่องจากปัจจัยต่างๆ ที่เป็นตัวกำหนดการเติบโตทางเศรษฐกิจมีรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไปหรือส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในลักษณะที่แตกต่างจากในอดีต

แนวคิดเรื่อง New Normal ของ Bill Gross ในช่วงแรกกลับไม่ได้รับความสนใจและยังถูกปฏิเสธโดยนักเศรษฐศาสตร์จำนวนหนึ่งที่เชื่อว่าการชะลอตัวที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการถดถอย (recession) ตามวัฏจักรเศรษฐกิจเดิมเท่านั้น และในไม่ช้าเศรษฐกิจและการจ้างงานก็จะกลับมาเติบโตได้ที่ค่าเฉลี่ยดังเดิม แต่สถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันได้พิสูจน์ให้เห็นว่าสิ่งที่ Bill Gross ได้พูดไว้ตั้งแต่ปี 2008 นั้นมีส่วนที่ถูกต้องอยู่ไม่น้อย

แบบเข้าใจง่าย

ช่วงที่เชื้อโคโรนาไวรัสกำลังแพร่ระบาด หลายคนคงได้ยินคำว่า New Normal หรือความปกติในรูปแบบใหม่ บ่อยครั้ง ในความหมายว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคและการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนจะเปลี่ยนไปหลังจากโรคระบาดผ่านพ้นไป แล้วจริงๆ แล้วคำคำนี้มีความหมายว่าอะไร มีที่มาที่ไปอย่างไรกันแน่ ไปดูกัน

คำว่า New Normal ถูกใช้เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2008 โดย บิลล์ กรอสส์ นักลงทุนในตราสารหนี้ชื่อดังชาวอเมริกัน ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Pacific Investment Management (PIMCO) กรอสส์ใช้คำนี้นิยามสภาวะเศรษฐกิจโลกในช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปี 2007-2008 ในสหรัฐ และภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Recession) ช่วงปี 2008-2012 ทั่วโลก โดยบอกว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะมีการเติบโตที่ชะลอตัวลง และจะมีอัตราเติบโตเฉลี่ยต่ำกว่าเดิม อีกทั้งความผันผวนทางเศรษฐกิจจะไม่ได้เป็นไปตามวัฏจักรเศรษฐกิจเดิมที่ผ่านมา เนื่องจากปัจจัยกำหนดทิศทางการเติบโตทางเศรษฐกิจเปลี่ยนไป หรือส่งผลต่อเศรษฐกิจในลักษณะที่แตกต่างจากอดีต

ที่ใช้คำว่า New Normal ก็เพราะเดิมวิกฤตเศรษฐกิจจะมีรูปแบบค่อนข้างชัดเจนคือ เมื่อเติบโตไปได้ระยะหนึ่งจะมีปัจจัยทำให้เกิดฟองสบู่ จากนั้นวิกฤตเศรษฐกิจจะตามมา หลังวิกฤตผ่านพ้นไป เศรษฐกิจก็จะเริ่มฟื้นตัวและกลับมาเติบโตได้อีกครั้งในเวลาไม่นาน นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปกติ หรือ Normal แต่หลังจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ผู้เชี่ยวชาญมองว่าเศรษฐกิจโลกจะไม่สามารถกลับไปเติบโตได้ดีแบบเดิมอีก เนื่องจากปัจจัยต่างๆ อาทิ การพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจมากเกินไปทั้งที่บางประเทศมีหนี้สาธารณะสูงมาก จากนั้นมาคำว่า New Normal จึงถูกนำมาใช้เรียกการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ถดถอยลง และอาจไม่มีทางกลับไปเติบโตได้ในระดับเดิมอีกแล้ว

ตัวอย่าง New Normal เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ เศรษฐกิจของจีน

ช่วงก่อนปี 2007 ที่เกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ เศรษฐกิจจีนขยายตัวมากกว่า 10% มาโดยตลอด แต่หลังจากนั้นการเติบโตก็ลดลงต่อเนื่อง จนถึงปี 2014 เศรษฐกิจจีนไม่เคยเติบโตเกิน 7% อีกเลย ประธานาธิบดี สีจิ้นผิงจึงชี้แจงกับชาวจีนว่า ที่เศรษฐกิจจีนเติบโตเพียง 7% แทนที่จะเป็นเลขสองหลักเหมือนก่อนหน้านี้ไม่ใช่เป็นเพราะภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่เป็น New Normal ทางเศรษฐกิจของจีนในอนาคต ส่วน New Normal ในยุค Covid-19 ถูกนำมาใช้ในความหมายว่าสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จะเกิดขึ้นและกลายเป็นความปกติในรูปแบบใหม่หลังจากเชื้อโคโรนาไวรัสหมดไป ไม่ว่าจะเป็นการช็อปปิ้งที่จะเปลี่ยนจากออฟไลน์เป็นออนไลน์ การทำงานอาจทำจากที่บ้านมากขึ้น หน้ากากอนามัยและเจลล้งมือกลายเป็นอุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้ และการสั่งอาหารแบบเดลิเวอรี่แทนการนั่งทานในร้าน เป็นต้น

อะไรคือเงื่อนไขให้เศรษฐกิจปรับตัวเข้าสู่ New Normal?

นักเศรษฐศาสตร์ที่สนับสนุนแนวคิด New Normal เชื่อว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่จะชะลอตัวลงเกิดจาก 3 สาเหตุหลักที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อโครงสร้างเศรษฐกิจในระยะยาว ได้แก่ 1.) การใช้จ่ายทางการคลังจำนวนมากเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซาในช่วงเวลาที่ผ่านมาโดยยอมให้หนี้สาธารณะสูงขึ้น ถือเป็นการ “กู้ยืมการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต” (borrowing future potential growth) และต้องชดเชยด้วยอัตราการเติบโตระดับต่ำในภายหลัง 2.) การกำกับดูแลที่เข้มงวดมากขึ้น (re-regulation) หลังเกิดวิกฤติทั้งด้านการคลังและในตลาดเงิน จนนำมาสู่อัตราทดและผลตอบแทนทางการเงินที่ลดต่ำลง (deleveraging) และ 3.) การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างการผลิตในแต่ละเศรษฐกิจเพื่อให้สอดคล้องกับทรัพยากรและความต้องการภายในประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต และลดการพึ่งพาการค้าการลงทุนระหว่างประเทศที่อาจมีมากเกินไป

ตัวอย่าง New Normal ทางเศรษฐกิจมีหน้าตาเป็นอย่างไร?

เพื่อให้เข้าใจถึงการเข้าสู่สภาวะ New Normal ที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น จึงขอหยิบยกนโยบายการปรับสมดุลทางเศรษฐกิจ (rebalancing) ของจีนในปัจจุบันที่น่าจะเป็นตัวอย่างที่เห็นเด่นชัดมากที่สุด นายสีจิ้นผิง ประธานาธิบดีของจีนคนปัจจุบันได้อธิบายถึงการลดเป้าหมายการเติบโตของเศรษฐกิจจีนลงเหลือเพียง 7% จากเดิมที่เคยเติบโตได้เฉลี่ยราว 10% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ว่ามิใช่เป็นการถดถอยทางเศรษฐกิจ แต่เป็นสภาวะ New Normal ของเศรษฐกิจจีนในช่วง 10 ปีต่อไปจากนี้ โดยมุ่งเป้าที่จะเติบโตอย่างมีเสถียรภาพมากขึ้นและไม่เน้นอัตราการเติบโตที่หวือหวาอย่างในอดีต

สาระสำคัญที่จะเกิดขึ้นในช่วงการปรับสมดุลและนำเศรษฐกิจจีนไปสู่สภาวะ New Normal ประกอบด้วย 1.) การลดการพึ่งพาเม็ดเงินลงทุนโดยเฉพาะจากภาครัฐ (investment-led growth) แล้วหันมาพึ่งพาการบริโภคเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของการเติบโตทางเศรษฐกิจ (consumption-led growth) 2.) การกำกับดูแลของภาครัฐที่เข้มงวดมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การลดบทบาทการกู้ยืมเงินของภาคธุรกิจเอกชนและรัฐบาลท้องถิ่นผ่านบริษัททรัสต์นอกเหนือจากการกู้ยืมผ่านระบบธนาคารพาณิชย์ (Shadow Banking) และ 3.) สภาวะประชากรในวัยแรงงานที่ลดลง โดยมีอัตราส่วนของประชากรในวัยทำงาน (อายุ 16 – 65 ปี) ต่อประชากรในวัยอื่นลดลงเรื่อยมาตั้งแต่ปี 2010

ถึงแม้การปรับสมดุลที่กล่าวมาข้างต้นจะส่งผลกระทบในทางลบต่ออัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในช่วงเปลี่ยนผ่านอย่างมีนัยสำคัญ แต่เศรษฐกิจจีนยังคงมีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแรงในหลายด้าน ทั้งหนี้สาธารณะของรัฐบาลที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำเพียง 40% ของจีดีพี การออมของภาคเอกชนที่มีสูงถึง 50% ของจีดีพี กำลังแรงงานในชนบทที่ยังคงเหลือกว่า 30% และเงินทุนสำรองต่างประเทศที่สูงที่สุดในโลก เศรษฐกิจจีนจึงน่าจะยังเติบโตได้ในระดับเฉลี่ย 6-7% ตาม New Normal ที่นายสีจิ้นผิงได้กล่าวไว้

เศรษฐกิจไทยกำลังเข้าสู่ New Normal หรือไม่?

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยมีการเติบโตที่อัตราเฉลี่ยเพียง 3.6% เท่านั้น ลดลงจากในอดีตที่เคยเติบโตได้เฉลี่ยถึง 4.7%ในช่วง 10 ปี ก่อนปี 2008 จนทำให้นักเศรษฐศาสตร์เริ่มมีความกังวลว่าเศรษฐกิจไทยอาจกำลังเข้าสู่สภาวะ New Normal ที่เกิดจากการสูญเสียศักยภาพในการเติบโต (potential growth) แทนที่จะเป็นการถดถอยตามวัฏจักรเศรษฐกิจทั่วไป

ถึงแม้เศรษฐกิจไทยจะยังขาดปัจจัยเสี่ยงภายในทางด้านการคลังตามนิยามเบื้องต้นของการเข้าสู่สภาวะ New Normal แต่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่อาจผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเข้าสู่สภาวะ New Normal ได้เช่นกัน ทั้งปัญหาที่เกิดจากทรัพยากรการผลิตในประเทศและโครงสร้างการค้าระหว่างประเทศ อันได้แก่ 1.) ปัญหาด้านโครงสร้างประชากรทั้งการขาดแคลนแรงงาน และการเข้าสู่สังคมวัยชราของประชากรไทย ที่ถือเป็นข้อจำกัดสำคัญต่อการขยายตัวของผลผลิตภายในประเทศ 2.) ผลิตภาพแรงงานไทยที่มีการพัฒนาช้ากว่าเทคโนโลยีการผลิตของโลกและไม่สามารถยกระดับเทคโนโลยีการผลิตได้ ซึ่งสำหรับประเทศไทยที่มีสถานะเป็นผู้รับจ้างผลิตมาเป็นระยะเวลายาวนาน การผลิตที่ขาดผลิตภาพ (low productivity) และไม่คุ้มต้นทุน (cost inefficient) อาจส่งผลให้ผู้จ้างทั้งที่มีอยู่ในปัจจุบันและผู้จ้างใหม่ในอนาคตปรับตัวและหันไปจ้างแหล่งผลิตอื่นที่มีศักยภาพด้านแรงงานสูงกว่า 3.) ธุรกิจเกิดใหม่ของไทยยังขาดความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งเกิดจากความเข้มงวดของสถาบันการเงินที่ไม่ต้องการรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต หากการเติบโตทางเศรษฐกิจยังคงอยู่ในระดับต่ำ 4.) การค้าเสรีที่เพิ่มมากขึ้นนำมาซึ่งราคาขายสินค้าที่ใกล้เคียงกัน ทำให้สินค้าไทยในบางอุตสาหกรรมที่มีความสามารถในการแข่งขันด้านราคาต่ำลงต้องเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านเพื่อหันไปผลิตสินค้าที่ตรงกับความต้องการของคนในประเทศหรือสินค้าที่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้มากขึ้นแทน และ 5.) หากคู่ค้าที่สำคัญอย่างจีนและยุโรปปรับตัวเข้าสู่สภาวะ New Normal เศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาการส่งออกกว่า 70% ของจีดีพี และพึ่งพาการส่งออกไปยังจีนและยุโรปถึง 1 ใน 5 ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด ย่อมต้องเข้าสู่สภาวะ New Normal ตามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ที่มา: https://www.posttoday.com/world/622276, https://www.scbeic.com/th/detail/product/1313