ก.ค.ศ.ไฟเขียวสอบครูผู้ช่วยใช้ข้อสอบภาค ก ของ ก.พ.

แชร์เลย

ก.ค.ศ.ไฟเขียวสอบครูผู้ช่วยใช้ข้อสอบภาค ก ของ ก.พ.

ลิงค์: https://ehenx.com/6775/ หรือ
เรื่อง:


ก.ค.ศ.ไฟเขียวสอบครูผู้ช่วยใช้ข้อสอบภาค ก ของ ก.พ.

ไฟเขียวสอบครูผู้ช่วยใช้ข้อสอบภาค ก ของ ก.พ.สอบ มาตรฐานเดียวกันกับข้าราชการทุกประเภท พร้อมยกเว้นเงื่อนไขการจัดสรรอัตราว่างจากการเกษียณอายุราชการตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา ที่มีจำนวนนักเรียนน้อยกว่า 120 คนลงมา

เมื่อวันที่ 8 เม.ย.นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ได้แก่ ร่างหลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย

ซึ่งการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการนี้ เป็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูและบุคลากร ทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย โดยการสอบดังกล่าวให้ใช้ข้อสอบภาค ก ของ ก.พ. ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันกับข้าราชการทุกประเภท ส่วนการสอบ ภาค ข ใช้แนวทางตามมาตรฐานวิชาชีพของคุรุสภา ทั้งนี้ให้มีการขึ้นบัญชีผู้ผ่านการประเมินภาค ก และภาค ข เป็นบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเข้ารับการประเมินภาค ค เป็นระยะเวลา 2 ปี

โดยเรียงตามลำดับผู้ที่ได้คะแนนจากมากไปหาน้อย ส่วนการประเมิน ภาค ค ให้ประเมินจากการสอบสัมภาษณ์ การสอบปฏิบัติการสอน และพิจารณาจากแฟ้มผลงาน ซึ่งหลักเกณฑ์และวิธีการนี้เป็นการเปิดโอกาสให้สถานศึกษามีส่วนร่วม ในการคัดเลือกครู เพื่อให้ได้ครูที่มีความสามารถในการจัดการเรียนการสอนตามบริบทของสถานศึกษา และชุมชน สอดคล้องกับงานวิจัยและแนวปฏิบัติในการคัดเลือกครูที่เป็นสากล

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า  นอกจากนี้ยังได้เห็นชอบการปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัด สพฐ.

โดยให้มีการประเมินความรู้และทักษะที่จำเป็น ประกอบด้วยทักษะดิจิทัล ภาษาอังกฤษ และภาษาไทย ก่อนเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา และศึกษานิเทศก์โดยกำหนดให้มีการขึ้นบัญชีไว้เป็นระยะเวลา 2 ปี โดยยกเลิกการประเมินแบบ 360 องศา และได้กำหนดหลักสูตรการคัดเลือกฯ ใหม่ แบ่งเป็น 3 ภาค ได้แก่ ภาค ก ความรู้เกี่ยวกับการบริหารงานในหน้าที่ การวิเคราะห์กฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานและการนำไปใช้ ภาค ข ความสามารถทางการบริหาร และภาค ค ความเหมาะสมกับตำแหน่ง

ส่วนร่างหลักเกณฑ์และวิธีการพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาก่อนแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา จากการที่ ก.ค.ศ. ได้ยกเว้นให้ผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือก ตาม ว 8/2562 ไม่ต้องผ่านการพัฒนาก่อนเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสถานศึกษา และผู้อำนวยการสถานศึกษา นั้น ก.ค.ศ.พิจารณาเห็นว่า เพื่อให้ผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา เป็นผู้มีความรู้ ทักษะ เจตนคติที่ดี มีคุณธรรม จริยธรรมและจรรยาบรรณวิชาชีพที่เหมาะสม จึงกำหนดให้มีหลักเกณฑ์และวิธีการนี้ขึ้น

โดยให้มีการพัฒนาฯ ก่อนแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษาและผู้อำนวยการสถานศึกษา รวมเป็นหลักเกณฑ์และวิธีการเดียวกัน และให้ใช้กับทุกส่วนราชการ คือ 1. ให้มีระยะเวลาการพัฒนาตามขอบข่ายการพัฒนาไม่น้อยกว่า 120 ชม. ตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสถานศึกษา และไม่น้อยกว่า 150 ชม. ตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา 2. ขอบข่ายการพัฒนา เช่น การนำความรู้หลักการบริหารการศึกษากฎหมาย การเป็นผู้บริหารสถานศึกษา ที่มีเจตคติที่ดี วินัย คุณธรรม การใช้ภาษาอังกฤษ และทักษะดิจิทัล  เป็นต้น

นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้เห็นชอบการขอยกเว้นเงื่อนไขการจัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุราชการของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา สังกัด สพฐ.เมื่อสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 เนื่องจาก สพฐ. ขอยกเว้นเงื่อนไขการจัดสรรอัตราว่าง เนื่องจาก คปร. ไม่ได้ให้คืนตำแหน่งให้กับสถานศึกษาที่มีจำนวนนักเรียนน้อยกว่า 120 คนลงมา

เพราะไม่เป็นไปตามเงื่อนไขในการจัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุราชการ ดังนั้นที่ประชุมเห็นว่า สพฐ. ประสบปัญหาขาดแคลนผู้บริหารสถานศึกษา ซึ่งปัจจุบันมีสถานศึกษาที่มีจำนวนนักเรียน น้อยกว่า 120 คนลงมาในพื้นที่ปกติที่ไม่สามารถควบรวมกับโรงเรียนอื่นได้ เป็นโรงเรียน Stand Alone ที่จำเป็นจะต้องคงอยู่ มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูง และได้รับการสนับสนุนทรัพยากรจากชุมชน ประกอบกับโรงเรียนที่มีนักเรียนน้อยกว่า 120 คนลงมา

ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล หรือมีบริบทที่ยังไม่เอื้อต่อการควบรวมสถานศึกษา ซึ่งการดำเนินการต้องอาศัยระยะเวลาและปัจจัยที่หลากหลาย จึงเห็นควรขอยกเว้นเงื่อนไข การจัดสรรอัตราว่างฯ ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาในโรงเรียนที่มีนักเรียนน้อยกว่า 120 คนลงมา ที่ตั้ง ในพื้นที่ปกติ เมื่อสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จำนวน 556 แห่ง รวม 556 อัตรา และให้เสนอไปยัง คปร. เพื่อพิจารณาต่อไป

แหล่งที่มา