ทำงานราชการแล้วได้อะไรบ้าง ทำไมทุกสมัยอยากให้ลูกทำงานราชการ

แชร์เลย

ทำงานราชการแล้วได้อะไรบ้าง ทำไมทุกสมัยอยากให้ลูกทำงานราชการ

ลิงค์: https://ehenx.com/7562/ หรือ
เรื่อง:


ทำงานราชการแล้วได้อะไรบ้าง ทำไมทุกสมัยอยากให้ลูกทำงานราชการ

จัดเป็นสายอาชีพที่มีศักดิ์ศรี ความมั่นคง และสวัสดิการที่ทำให้ หลายคนยอมทิ้งงานเอกชนเพื่อก้าวสู่ชีวิตการเป็นข้าราชการที่ให้บริการประชาชนมากกว่าลูกค้า
ประเภทข้าราชการไทย
  1. ข้าราชการพลเรือน (ข้าราชการพลเรือนสามัญ และข้าราชการพลเรือนในพระองค์)
  2. ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา
  3. ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
  4. ข้าราชการทหาร
  5. ข้าราชการตำรวจ
  6. ข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม
  7. ข้าราชการฝ่ายอัยการ
  8. ข้าราชการรัฐสภา
  9. ข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง
  10. ข้าราชการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ
  11. ข้าราชการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
  12. ข้าราชการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน
  13. ข้าราชการกรุงเทพมหานครและบุคลากรกรุงเทพมหานคร
  14. ข้าราชการการเมือง
  15. ข้าราชการส่วนท้องถิ่น
  16. พนักงานอื่นของรัฐ
    1. พนักงานรัฐวิสาหกิจ
    2. พนักงานราชการ
    3. พนักงานมหาวิทยาลัย
    4. พนักงานกระทรวงสาธารณสุข
    5. พนักงานองค์การมหาชนและองค์การของรัฐอื่นที่ไม่ใช่ส่วนราชการ
    6. ลูกจ้างประจำ
ค่าตอบแทนของระบบราชการ

เงินเดือนพื้นฐาน (Base Salary) เป็นค่าตอบแทนที่จ่ายให้กับข้าราชการพลเรือนสามัญทุกคนตามประเภทตำแหน่งและระดับตำแหน่ง เพื่อสะท้อนถึงขนาดของงาน (Job Size) ผลงาน (Performance) และสมรรถนะ (Competency) โดยแบ่งออกเป็น 4 บัญชี ตามประเภทตำแหน่ง ได้แก่ ประเภทบริหาร ประเภทอำนวยการ ประเภทวิชาการ และประเภททั่วไป

ค่าตอบแทนลักษณะอื่นๆ (Allowance) เป็นค่าตอบแทนที่จ่ายให้กับข้าราชการพลเรือนสามัญตามลักษณะงาน ตำแหน่งงาน สภาพการทำงาน หรือลักษณะเฉพาะต่าง ๆ ค่าตอบแทนลักษณะนี้สามารถเป็นกลไกในการสร้างแรงจูงใจและปรับค่าตอบแทน ให้มีความเหมาะสมมากขึ้น ในปัจจุบันประกอบด้วยค่าตอบแทนหลายลักษณะภายใต้กฎและระเบียบที่แตกต่างกันออกไป เช่น เงินประจำตำแหน่ง เงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ เงินค่าตอบแทนนอกเหนือจากเงินเดือน เงินค่าตอบแทนพิเศษรายเดือนให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ภาคใต้ เงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว นอกจากนี้ ในบางส่วนราชการมีการกำหนดค่าตอบแทนในลักษณะอื่น ๆ ได้ เช่น เงินรางวัล ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสำหรับการปฏิบัติงานด้านต่างๆ เป็นต้น

สวัสดิการและประโยชน์เกื้อกูล (Benefit/Fringe Benefit)

สวัสดิการ คือ ค่าตอบแทนที่ทางราชการจัดให้แก่ข้าราชการในฐานะที่เป็นสมาชิกส่วนหนึ่งขององค์การ เพื่อช่วยให้มีความมั่งคงในการดำรงชีวิต ตลอดจนเป็นเครื่องมือในการเสริมสร้างขวัญและกำลังใจให้ข้าราชการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสามารถแบ่งออกเป็นสวัสดิการที่เป็นตัวเงิน ซึ่งประกอบด้วย

  • ค่ารักษาพยาบาล  ข้าราชการมีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาลจากทางราชการสำหรับตนเอง บิดาและมารดา คู่สมรส และบุตร กรณีบุตรนั้นให้ไม่เกิน 3 คน เรียงลำดับก่อนหลัง โดยต้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย และยังไม่บรรลุนิติภาวะ โดยสามารถเบิกได้ตามข้อต่อไปนี้
    – ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ ค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ ค่าเลือด ค่าออกซิเจน ฯลฯ
    – ค่าอวัยวะเทียม อุปกรณ์บำบัดรักษาโรค ค่าซ่อมแซม
    – ค่าบริการทางการแพทย์  ค่าตรวจวินิจฉัยโรค (ไม่รวมค่าธรรมเนียมพิเศษ)
    – ค่าตรวจครรภ์  ค่าคลอดบุตรและการดูแลหลังคลอด
    – ค่าห้อง ค่าอาหาร
    – ค่าใช้จ่ายเพื่อเป็นการเสริมสร้างสุขภาพและป้องกันโรค
    – ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายและจิตใจ
    – ค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็นตามที่กระทรวงการคลังกำหนด
  • เงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตร โดยคุณสามารถเบิกค่าเล่าเรียนของบุตรได้ตั้งแต่ชั้นอนุบาล จนถึงจบปริญญาตรีเลยทีเดียว โดยให้ข้าราชการเบิกค่าเล่าเรียนบุตรสำหรับบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายคนที่ 1 ถึงคนที่ 3 ตามลำดับก่อนหลัง และอายุไม่เกิน 25 ปีบริบูรณ์
  • เงินสวัสดิการสำหรับการปฏิบัติงานประจำสำนักงานในพื้นที่พิเศษ
  • บำเหน็จความชอบ
  • บำเหน็จ บำนาญ ในกรณีที่คุณเกษียรอายุราชการแล้ว จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ก็สุดแล้วแต่คุณจะเลือกว่าสะดวกแบบไหน
    1. เงินบำเหน็จ =  จ่ายครั้งเดียว โดยคิดจาก เงินเดือนที่ได้รับเดือนสุดท้าย x อายุราชการ (ปี) เช่น ทำงานมา20ปี เงินเดือนก้อนสุดท้ายคือ 50,000บาท เงินบำเหน็จที่จะได้รับคือ 1,000,000 บาท
    2. เงินบำนาญ = เงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย x อายุราชการ (ปี) จากนั้นนำมาหารด้วย 50 ก็จะเป็นเงินที่ได้รับเป็นรายเดือนต่อไปจนเสียชีวิต

ในส่วนของสวัสดิการที่ไม่เป็นตัวเงินนั้นจะประกอบด้วย

  • การลาประเภทต่างๆ โดยมีสิทธ์การลาทั้งหมด 11 ประเภท ได้แก่ ลาป่วย , ลาคลอดบุตร , ลากิจส่วนตัว ,ลาพักผ่อน, ลาไปช่วยภริยาที่คลอดบุตร ,ลาติดตามผู้สมรส ,ลาไปปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศ ,ลาอุปสมบท , ลาเข้ารับการตรวจเลือก/เตรียมพล ,ลาศึกษา ฝึกอบรม ดูงาน ปฏิบัติการวิจัย , ลาไปฟื้นฟูสมรรถภาพด้านอาชีพ
  • เครื่องราชอิสริยาภรณ์ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ เครื่องหมายแห่งเกียรติยศซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่ผู้กระทำความดีความชอบเป็นประโยชน์แก่ราชการหรือสาธารณชน  โดยการพิจารณาเสนอขอของรัฐบาล ถือเป็นบำเหน็จความชอบ และเครื่องหมายเชิดชูเกียรติอย่างสูงแก่ผู้ได้รับ

ประโยชน์เกื้อกูล คือ ค่าตอบแทนที่ทางราชการจัดให้แก่ข้าราชการ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงาน เช่น

  • ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ การเดินทางไปราชการชั่วคราว  ได้แก่  การไปปฏิบัติราชการชั่วคราวนอกที่ตั้งสำนักงานซึ่งปฏิบัติราชการปกติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา การไปสอบคัดเลือกหรือรับการคัดเลือกตามที่ได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชา การไปช่วยราชการ ไปรักษาการในตำแหน่ง หรือไปรักษาราชการแทน เป็นต้น    ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการชั่วคราว ได้แก่ เบี้ยเลี้ยงเดินทาง ค่าเช่าที่พัก ค่าพาหนะ ค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทาง
  • ค่าเช่าบ้าน ผู้มีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้าน ได้แก่ ข้าราชการที่ได้รับคำสั่งให้เดินทางต่างท้องที่ไปประจำ
  • เงินตอบแทนการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ
  • รถประจำตำแหน่ง
  • โทรศัพท์มือถือ

เงินรางวัลประจำปี (Bonus) เป็นค่าตอบแทนที่จ่ายให้กับข้าราชการในลักษณะเงินรางวัลประจำปีของหน่วยงาน โดยมีการจัดสรรให้กับข้าราชการในองค์กรเพื่อเป็นแรงจูงใจในการพัฒนาการปฏิบัติราชการ และเป็นการเชื่อมโยงค่าตอบแทนกับผลการปฏิบัติงานของส่วนราชการและข้าราชการ โดยส่วนราชการจะมีการจัดทำคำรับรองการปฏิบัติราชการ และมีการประเมินผลเป็นประจำทุกปีร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ

สิทธิการกู้ยืมเงินของข้าราชการ  ข้าราชการสามารถกู้ได้ แถมอยู่ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าเงินกู้ทั่วไป  ผู้ที่ทำงานในหน่วยงานราชการแม้มีหนี้ก็เป็นหนี้ที่ไม่ต้องเสียดอกมาก และสามารถผ่อนชำระได้เป็นเวลานานไม่มีการบีบบังคับตนเองมากเกินไป

โครงการสวัสดิการเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยของทางราชการ   มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือข้าราชการและลูกจ้างประจำให้สามารถมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยให้ข้าราชการและลูกจ้างประจำมีสิทธิกู้เงินจากโครงการดังกล่าวไปเฉพาะเพื่อซื้อที่ดินพร้อมอาคารหรือห้องชุด เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยหรือเพื่อปลูกสร้างอาคารที่อยู่อาศัยบนที่ดินของตนเอง