คู่มือ ‘รีสตาร์ตธุรกิจ’ กฎเหล็กเปิดบริการ ‘ร้านอาหาร’

แชร์เลย

คู่มือ ‘รีสตาร์ตธุรกิจ’ กฎเหล็กเปิดบริการ ‘ร้านอาหาร’

ลิงค์: https://ehenx.com/7017/ หรือ
เรื่อง:


คู่มือ ‘รีสตาร์ตธุรกิจ’ กฎเหล็กเปิดบริการ ‘ร้านอาหาร’

จากที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีคำสั่งแต่งตั้ง “คณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชน” ในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) โดยประธานสภาธุรกิจ 8 แห่ง เพื่อร่วมให้คำปรึกษา เสนอแนะ ป้องกันและแก้ปัญหาของภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบของโควิด-19 ซึ่งมีการตั้งคณะทำงานทั้งหมด 5 ชุด โดย “กลินท์ สารสิน” ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นประธาน “คณะทำงานกลุ่มมาตรการสำหรับการกลับมาเปิดธุรกิจใหม่”

คู่มือ “รีสตาร์ตธุรกิจ”

ล่าสุด (23 เมษายน 2563) คณะทำงานได้จัดทำ “คู่มือเตรียมความพร้อมการเปิดสถานประกอบการภายใต้สถานการณ์โควิด-19” โดยได้กำหนดหลักการของคู่มือเตรียมความพร้อมการเปิดธุรกิจใหม่ 3 ข้อ ประกอบด้วย 1.ความเสี่ยงของสถานประกอบการและพื้นที่ (รายจังหวัด) 2.ข้อปฏิบัติพื้นฐานที่ทุกสถานประกอบการต้องดำเนินการ และ 3.คู่มือสำหรับสถานประกอบการ (รายประเภท)

กรณีความเสี่ยงพื้นที่แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ เสี่ยงต่ำ (สีเขียว) เสี่ยงกลาง (สีเหลือง) และเสี่ยงสูง (สีแดง) ในกรณีจังหวัดพื้นที่สีแดง ไม่ได้หมายความว่าเปิดธุรกิจไม่ได้ คู่มือระบุว่า สามารถเปิดให้บริการได้ แต่ต้องเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่ำ และความเสี่ยงปานกลาง แต่ต้องเป็นไปด้วยความระมัดระวัง

4 เกณฑ์-4 กลุ่มประเภทธุรกิจ

สำหรับหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณาจัดระดับความเสี่ยงของประเภทกิจการต่าง ๆ ประกอบด้วย 1.ลดความหนาแน่นของผู้คนที่มาร่วมงาน ณ เวลาหนึ่ง กรณีห่างกันมากกว่าหรือเท่ากับ 1 เมตรถือว่ามีความเสี่ยงต่ำ 2.ระยะเวลาการใช้บริการหากน้อยกว่า 30 นาที ถือว่าอยู่ในความเสี่ยงต่ำ 3.ลักษณะของกิจกรรม เช่น พูดคุยธรรมดา ไม่มีการส่งเสียงดัง ตะโกน (เสี่ยงต่ำ) และ 4.การระบายอากาศ กรณีเป็นสถานที่เปิดไม่ติดแอร์ อาการถ่ายเทดี (เสี่ยงต่ำ)  แต่หากติดแอร์แต่มีระบบระบายอากาศพอเพียง (เสี่ยงปานกลาง)

โดยคณะทำงานร่วมมือกับนักวิชาการด้านการควบคุมโลก จัดระดับความเสี่ยงของสถานประกอบการแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ “กลุ่มสีขาว” เป็นร้านค้าขนาดเล็ก อยู่ในที่โล่งลักษณะเป็นหาบเร่ แผงลอย หรือไม่มีหน้าร้านเป็นหลักแหล่ง กลุ่มนี้ได้รับการยกเว้น “ไม่ต้องลงทะเบียนและดำเนินการออนไลน์”

“กลุ่มสีเขียว” (ความเสี่ยงต่ำ) หมายถึงร้านขนาดเล็กติดแอร์/ไม่ติดแอร์ ไม่มีการสัมผัสตัว เช่น ร้านขายหนังสือ ร้านขายเสื้อผ้า ร้านวัสดุก่อสร้าง รวมถึงสวนสาธารณะ สนามออกกำลังกายกลางแจ้ง ลานกีฬา เช่น สนามเทนนิส

กลุ่มนี้ต้องลงทะเบียนออนไลน์เพื่อทำความตกลงยอมรับข้อปฏิบัติพื้นฐาน และคู่มือสำหรับสถานประกอบการ (รายประเภท) รวมถึงจัดระบบลงทะเบียนผู้ใช้บริการ โดยการติด “คิวอาร์โค้ด”
ให้ลูกค้าสแกนข้อมูลก่อนเข้าร้านและเมื่อออกจากร้าน

“กลุ่มสีเหลือง” (ความเสี่ยงปานกลาง) สถานที่รวมร้านค้าขนาดเล็ก เช่น ตลาดสด ตลาดนัด ฟู้ดเซ็นเตอร์ รวมถึงธุรกิจขนาดใหญ่ เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าโมเดิร์นเทรด คอมมิวนิตี้ มอลล์ เป็นต้น รวมถึงธุรกิจขนาดเล็ก แต่ติดแอร์และมีการสัมผัสตัว เช่น ร้านทำผม คลินิกความงาม คลินิกทำฟัน รวมทั้งสถานกีฬาบางประเภทมีพื้นที่ห่างกันที่มีการระบายอากาศ เช่น สนามแบดมินตัน สระว่ายน้ำ เป็นต้น

กลุ่มนี้นอกจากต้องลงทะเบียนออนไลน์เพื่อทำความตกลงยอมรับข้อปฏิบัติพื้นฐาน ยังต้องรอการตรวจสอบจาก “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ก่อนเปิดกิจการ

ศูนย์แสดงสินค้าติดกับดัก “ห้ามเปิด” เด็ดขาด

สุดท้าย “กลุ่มสีแดง” (ความเสี่ยงสูง) “ห้ามเปิดดำเนินการ” ครอบคลุม 6 ประเภท 1.ร้านขนาดเล็กติดแอร์นั่งอยู่กับที่นาน เช่น ร้านเกม ร้านอินเทอร์เน็ต 2.ผู้ใช้บริการต้องนั่งนาน1-2 ชั่วโมงในห้องแอร์ เช่น โรงภาพยนตร์ โรงละคร  อื่น ๆ ร้านนวด 3.สถานที่ปิดที่มีการชุมนุมคนจำนวนมาก เช่น ศูนย์การแสดงสินค้า ศูนย์ประชุม ห้องจัดเลี้ยงขนาดใหญ่ 4.กิจการที่ชักนำให้มีการเคลื่อนที่คนข้ามพื้นที่ เช่น สถาบันกวดวิชา 5.สถานที่เปิดที่ชุมนุมคนจำนวนมาก และชวนให้ส่งเสียงเชียร์ ตะโกน เช่น สนามกีฬา และ 6.สถานประกอบการที่ปิดอากาศไม่ถ่ายเท มีการส่งเสียง ตะโกน เชียร์ ได้แก่ ผับ บาร์ คาราโอเกะ สนามมวย โรงเรียนสอนมวย สนามกีฬาในห้องแอร์

คู่มือเปิด “ร้านอาหาร-เครื่องดื่ม”

นอกจากนี้ คณะทำงานได้จัดทำคู่มือเปิดร้านอาหารและเครื่องดื่ม โดยแยกตามขนาดเป็น 3 กลุ่ม “ขนาดเล็ก-กลาง-ใหญ่”

ขนาดเล็ก-ร้านอาหารที่เป็นตึกแถว มีคูหาติดกันไม่เกิน 2 คูหา เช่น ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านข้าวแกง ร้านอาหารตามสั่ง  เป็นต้น

ขนาดกลาง-ร้านอาหารหรือเชนที่อยู่ในห้างสรรพสินค้า

ขนาดใหญ่-สวนอาหาร หรือร้านอาหารที่มีพื้นที่จอดรถมากกว่า 10 คัน หรือร้านอาหารที่จัดให้มีดนตรี

เสิร์ฟเป็นเซตแบบกินคนเดียวเท่านั้น

เงื่อนไขสำคัญของ “ร้านอาหาร” ที่จะกลับมาเปิดให้บริการต้องเป็นเมนูปรุงสุกและเป็นเซตสำหรับทาน “คนเดียว”   รวมทั้งจำกัดเวลาการใช้บริการไม่ให้เกิน 1 ชั่วโมง และร้านอาหารทุกขนาดที่จะกลับมาเปิดให้บริการต้องจัดสถานที่ให้ผู้ใช้บริการและพนักงานต้องมีการเว้นระยะห่าง 1 เมตร รวมถึงการจัดที่นั่งหรือโต๊ะต้องเว้นระหว่างกัน 1-2 เมตร, อากาศถ่ายเทและไม่ใช้อุปกรณ์ร่วมกัน เช่น เครื่องปรุง และซอสปรุงรสต่าง ๆ เป็นต้น

และต้องมีมาตรการทำความสะอาดจุดที่ให้บริการลูกค้า รวมถึงอุปกรณ์และจุดสัมผัสต่าง ๆ เช่น ประตู ลูกบิด ทุก ๆ 1 ชั่วโมง สำหรับร้านขนาดกลางและใหญ่ ต้องจัดทำระบบคิวสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชั่น หรือโทรศัพท์ตามเมื่อถึงคิวให้บริการ เพื่อจำกัดจำนวนผู้ใช้บริการในร้าน และให้งดมีการเล่นดนตรีหรือแสดงสด

ทั้งนี้ ตามแผนเปิดเมือง ทางคณะทำงานได้เสนอให้ทดลองเปิดในจังหวัดตัวอย่าง 2-3 จังหวัด เพื่อเก็บข้อมูลแก้ไขข้อบกพร่อง ซึ่งตามแผนแบ่งเปิดบริการเป็น 3 เฟส ซึ่งแต่ละเฟสก็จะมีผ่อนคลายในแต่ละพื้นที่และประเภทกิจการตามความเสี่ยง

การอนุญาตให้ธุรกิจเปิดดำเนินการได้โดยมีระบบป้องกันความเสี่ยง รวมถึง “ระบบติดตามตัวผู้ใช้บริการ” ในสถานประกอบการ ด้วยระบบลงทะเบียนบุคคลที่สามารถใช้งานได้กับมือถือทุกรุ่น ทั้งนี้ เมื่อตรวจพบผู้ติดเชื้อใหม่ในพื้นที่จะได้ประสานงานให้ข้อมูลกับผู้ใช้บริการได้รวดเร็ว และต้องมีการทบทวนมาตรการในแต่ละพื้นที่ทันที

แหล่งที่มา