กรมบัญชีกลาง ให้ข้าราชการเบิกจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาลได้ กรณีเสี่ยง-ติดโควิด

แชร์เลย

กรมบัญชีกลาง ให้ข้าราชการเบิกจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาลได้ กรณีเสี่ยง-ติดโควิด

ลิงค์: https://ehenx.com/13971/ หรือ
เรื่อง:


กรมบัญชีกลาง ให้ข้าราชการเบิกจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาลได้ กรณีเสี่ยง-ติดโควิด

 
วันที่ 14 เมษายน 2564 นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า กรมบัญชีกลางมีความห่วงใยต่อสุขภาพของข้าราชการ ลูกจ้างประจำ ผู้รับเบี้ยหวัด ผู้รับบำนาญ (ผู้มีสิทธิ) และบุคคลในครอบครัว ที่เสี่ยงหรือติดเชื้อโควิด-19 ให้สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลในระบบเบิกจ่ายตรงได้ โดยไม่ต้องทดรองจ่ายเงินไปก่อน โดยผู้มีสิทธิหรือบุคคลในครอบครัวที่มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ หอบเหนื่อย หรือมีอาการของโรคปอดอักเสบ สามารถเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลของทางราชการและสถานพยาบาลเอกชน ทั้งนี้ หากแพทย์ได้ดำเนินการสอบสวนโรคตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดแล้ว หรือแพทย์วินิจฉัยว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัวสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ ดังนี้

1. สถานพยาบาลของทางราชการ 

– กรณีผู้ป่วยนอกผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงสามารถเบิกค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการด้วยเทคนิค Real time RT-PCR หรือเทคนิคอื่น ๆ เบิกได้เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 2,200 บาทต่อครั้ง  

– กรณีติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) และสถานพยาบาลรับตัวไว้เป็นผู้ป่วยในแล้ว สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลเพิ่มเติมได้ เช่น ค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการด้วยเทคนิค Real time RT-PCR หรือเทคนิคอื่น ๆ เบิกได้เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 2,200 บาทต่อครั้ง ค่าห้องพักสำหรับควบคุมหรือดูแลรักษา เบิกได้เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 2,500 บาทต่อวัน ค่ายารักษาเฉพาะผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) เบิกได้เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 7,200 บาท  

– กรณีแพทย์ผู้รักษาเห็นว่า อาการดีขึ้นสามารถส่งตัวไปพักฟื้น ณ สถานที่ที่สถานพยาบาลของทางราชการได้จัดหาไว้เป็นการเฉพาะ เช่น สถานพยาบาลสนาม หอผู้ป่วย COVID-19 ของกระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น เพื่อดูแลผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ให้มีสิทธิได้รับเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 1,500 บาทต่อวัน และในกรณีที่สถานพยาบาลของทางราชการมีความจำเป็นต้องส่งตัวผู้มีสิทธิหรือบุคคลในครอบครัวที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ผู้มีสิทธิมีสิทธิได้รับเงินสวัสดิการนอกเหนือจากค่าพาหนะส่งต่อ รายการค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment) และค่าบริการทำความสะอาดฆ่าเชื้อบนรถพาหนะส่งต่อ ในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 3,700 บาท ต่อครั้งที่มีการส่งต่อ 

– สนับสนุนมาตรการ Social Distancing ของรัฐบาล โดยให้ผู้ป่วยเก่าของสถานพยาบาลที่รับยาอย่างต่อเนื่องสามารถรับยาที่บ้านได้ ลดความเสี่ยงในการเดินทางมายังสถานพยาบาลในช่วงที่เกิดการระบาดของโรค 

2. สถานพยาบาลเอกชน 

– กรณีติดเชื้อโควิด-19 การเบิกค่ารักษาพยาบาลจะครอบคลุมตั้งแต่สถานพยาบาลเอกชนรับตัวไว้เป็นผู้ป่วยใน จนถึงสิ้นสุดการรักษา รวมถึงการส่งตัวผู้ป่วยไปเข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาลเอกชนแห่งอื่นที่ได้จัดเตรียมไว้ ทั้งนี้ หากผู้มีสิทธิหรือบุคคลในครอบครัว ปฏิเสธการย้ายไปยังสถานพยาบาลเอกชนที่ได้จัดเตรียมไว้ หรือประสงค์จะย้ายไปรักษาพยาบาลที่สถานพยาบาลของเอกชนแห่งอื่น ค่ารักษาพยาบาลภายหลังจากนั้น จะไม่สามารถใช้สิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลจากทางราชการได้ 

– กรณีไม่ติดเชื้อโควิด-19 การเบิกค่ารักษาพยาบาลจะครอบคลุมตั้งแต่สถานพยาบาลเอกชนรับตัวไว้เป็นผู้ป่วยใน จนถึงผู้ป่วยได้รับแจ้งผลการตรวจที่ยืนยันว่าไม่ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินตามกฎหมายว่าด้วยการแพทย์ฉุกเฉิน หลังจากที่ได้รับการยืนยันว่า ไม่ติดเชื้อ ให้เบิกได้ตามหลักเกณฑ์และอัตราค่ารักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยนอกหรือผู้ป่วยในสถานพยาบาลของเอกชน กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน พ.ศ. 2560  

“สำหรับผู้มีสิทธิหรือบุคคลในครอบครัว ที่มีประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลกรณีเสี่ยงหรือติดเชื้อโควิด-19 หากสิทธิที่ได้รับเงินตามประกันภัยต่ำกว่าค่ารักษาพยาบาลในคราวนั้น ผู้มีสิทธิ มีสิทธิได้รับเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลตามหลักเกณฑ์นี้เฉพาะส่วนที่ขาดอยู่” อธิบดีกรมบัญชีกลางกล่าว