สปสช.บัตรทองรักษาทุกที่เฉพาะศูนย์สาธารณสุข-คลินิกใกล้บ้าน เริ่ม 1 พ.ย.นี้

แชร์เลย

สปสช.บัตรทองรักษาทุกที่เฉพาะศูนย์สาธารณสุข-คลินิกใกล้บ้าน เริ่ม 1 พ.ย.นี้

ลิงค์: https://ehenx.com/11695/ หรือ
เรื่อง:


สปสช.บัตรทองรักษาทุกที่เฉพาะศูนย์สาธารณสุข-คลินิกใกล้บ้าน เริ่ม 1 พ.ย.นี้

รัฐแจงนโยบายยกระดับบัตรทอง 4 ด้าน ประเดิม.วันที่ 1 พ.ย.นำร่องในกทม.สามารถใช้”บัตรทองรักษาทุกที่”เฉพาะศูนย์สาธารณสุข และคลินิกใกล้บ้าน

จากนโยบายการยกระดับบัตรทอง ซึ่งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ยกระดับบริการ 4 ด้านได้แก่ 1.คนกทม.รักษาทุกที่ ณ เครือข่ายหน่วยบริการชุมชนอบอุ่น 2.ผู้ป่วยไม่ต้องใช้ใบส่งตัว นำร่องในเขต 9 นครชัยบุรินทร์ 3.มะเร็งส่งตรงถึง รพ.เฉพาะด้าน ที่ไม่แออัด 4.ประสงค์จะย้ายหน่วยบริการเมื่อใดก็สามารถรักษาที่ใหม่ได้ทันที

ล่าสุดวันที่ 26 ตุลาคม 2563 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นโยบายยกระดับบัตรทองที่จะเริ่ม 1 พ.ย. 63 นี้ ประชาชนในกรุงเทพมหานคร รักษาทุกที่เฉพาะศูนย์สาธารณสุข และคลินิกใกล้บ้านเท่านั้น ส่วนผู้ป่วยไม่ต้องใช้ใบส่งตัว นำร่องในเขต 9 นครชัยบุรินทร์ เริ่ม 1 พ.ย. 63 นี้เช่นกัน ขณะที่อีก 2 ด้านคือ มะเร็งส่งตรงถึง รพ.เฉพาะด้านที่ไม่แออัด และย้ายสถานพยาบาลเมื่อใดรักษาที่ใหม่ได้ทันที เริ่ม 1 ม.ค. 64 เป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน

ในส่วนของบริการที่จะเริ่มในวันที่ 1 พ.ย. 63 นั้น มี 2 ด้าน คือ 1.ประชาชนในกทม.รักษาทุกที่ ณ เครือข่ายหน่วยบริการชุมชนอบอุ่น และ 2. ผู้ป่วยไม่ต้องใช้ใบส่งตัว ทดลองนำร่องในเขต 9 นครชัยบุรินทร์

ทั้งนี้ ในส่วนของนโยบายที่ประชาชนในกทม. สามารถรักษาทุกที่ ณ เครือข่ายหน่วยบริการชุมชนอบอุ่นนั้น ที่ผ่านมา ผู้ใช้สิทธิบัตรทองจะถูกจับคู่กับคลินิกประจำเพียงแห่งเดียว เมื่อเจ็บป่วยก็ต้องไปรักษาที่คลินิกนั้นๆ เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ วันที่ 1 พ.ย. 63 เป็นต้นไป ผู้ใช้สิทธิบัตรทองจะสามารถเข้ารับบริการได้ที่ “เครือข่ายหน่วยบริการชุมชนอบอุ่น” ซึ่งเครือข่ายบริการชุมชนอบอุ่นใน กทม. กระจายในทุกเขต แบ่งออกเป็น 1.คลินิกชุมชนอบอุ่น และ 2.คลินิกเฉพาะทางชุมชนอบอุ่น โดยผู้มีสิทธิบัตรทองสามารถใช้บริการได้ทุกแห่ง ภายในเขตของตนเองเท่านั้น

ทั้งนี้ สปสช.ให้ความมั่นใจผู้ใช้สิทธิ์บัตรทองว่า ทุกคนจะมีหน่วยบริการ หรือสถานพยาบาลดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 63 เป็นต้นไป ประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทองในกรุงเทพมหานคร สามารถเข้ารับบริการรักษาปฐมภูมิทุกที่ในเครือข่ายหน่วยบริการในกทม.

โดยมี “ศูนย์บริการสาธารณสุข” ของกทม. ทั้ง 69 แห่งใน 50 เขต เป็นหน่วยบริการแม่ข่ายของแต่ละเขต ทั้งนี้ได้จัดกลุ่ม “หน่วยบริการ” เป็น “เครือข่ายบริการ” ทำให้ผู้มีสิทธิ์บัตรทองใน กทม. มีหน่วยบริการดูแลเพิ่มขึ้น และสามารถเข้ารับบริการปฐมภูมิที่หน่วยบริการปฐมภูมิใดก็ได้ในเครือข่ายแต่ละพื้นที่

นอกจากนี้ยังได้เพิ่ม “หน่วยบริการร่วม” ในระบบบริการรูปแบบใหม่ อาทิ คลินิกผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง คลินิกทันตกรรม คลินิกการพยาบาลและผดุงครรภ์ คลินิกกายภาพบำบัด และร้านขายยา ขย.1 โดยเปิดในหรือนอกเวลาราชการ ทำให้ผู้มีสิทธิ์บัตรทองในกทม. ได้รับการดูแลอย่างมีคุณภาพจากสหวิชาชีพด้านต่างๆ

ส่วน ผู้ป่วยที่มีอาการ เจ็บป่วยเล็กน้อย เช่น ปวดหัว ตัวร้อน เจ็บ ไข้ ไอ ปวด โรคเรื้อรังที่ต้องรับยาต่อเนื่อง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ฯลฯ รวมถึงการบริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค 16 รายการ และการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ (กายภาพบำบัด) สามารถเข้ารับบริการได้ที่ ”หน่วยบริการปฐมภูมิ” บัตรทองใกล้บ้านใน กทม.ได้ทุกแห่ง

นายอนุชา กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการบริการที่ผู้ป่วยไม่ต้องใช้ใบส่งตัว นำร่องในเขต 9 นครชัยบุรินทร์ นั้น จะเป็นการยกเลิกการกลับมาขอใบส่งตัวในกรณีที่ต้องนอนรักษาตัว(แอดมิท)ในโรงพยาบาลที่ไม่ใช่โรงพยาบาลประจำ ซึ่งที่ผ่านมา นำมาสู่ความยุ่งยาก เสียเวลา เสียค่าใช้จ่าย

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ วันที่ 1 พ.ย. 63 เป็นต้นไป ผู้ป่วยจะไม่ต้องใช้ใบส่งตัวอีกแล้ว โดย สปสช. จะจัดทำระบบออนไลน์เพื่อเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างคลินิกกับ รพ.เอง โดยเบื้องต้นจะนำร่องใน 4 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์
ขณะที่การยกระดับการบริการบัตรทองอีก 2 ด้าน คือ 1.การรักษาโรคมะเร็ง และ 2.การย้ายสถานที่บริการ โดยจะเริ่มในวันที่ 1 ม.ค. 64 ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

1.โรคมะเร็งนั้นเป็นโรคที่ละเอียดอ่อน มีความซับซ้อนและมีหลายชนิด โดยโรงพยาบาลแต่ละแห่งมีศักยภาพในการรักษามะเร็งแต่ละชนิดไม่เท่ากัน บางแห่งมีความแออัดทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นต้นไป หากผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง ผู้วินิจฉัยจะส่งข้อมูลผู้ป่วยมายังศูนย์ส่งต่อด้านมะเร็ง จากนั้น ศูนย์ส่งต่อจะทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานจัดหา รพ.ที่ไม่แออัด และมีศักยภาพรักษาโรคมะเร็งนั้นๆ ให้เป็นการเฉพาะราย ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วและเหมาะสมมากยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกัน ยังสนับสนุนการจัดบริการให้ยาเคมีบำบัดที่บ้าน การติดตามอาการและแนะนำการทานยาผ่านระบบสื่อสารทางไกล(Telehealth)

2.การย้ายหน่วยบริการหรือสถานพยาบาลประจำนั้น ที่ผ่านมา เมื่อผู้ใช้สิทธิบัตรทองขอย้ายหน่วยบริการ จะต้องรออีก 15 วัน จึงจะไปรักษาที่หน่วยบริการแห่งใหม่ได้ อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ วันที่ 1 ม.ค. 2564 เป็นต้นไป ผู้ใช้สิทธิทั่วประเทศ จะไม่ต้องรอ 15 วันอีกต่อไป กล่าวคือเมื่อมีความประสงค์จะย้ายเมื่อใดก็สามารถไปรักษาที่ใหม่ได้ทันที

แหล่งที่มา